พิธีการลูกเสือสำรอง - พิธีเข้าประจำกองลูกเสือสำรอง
ที่มา : สารานุกรมลูกเสือ ๑๐๐ ปี ลูกเสือไทย เล่มที่ ๒
ความหมาย
การเข้าประจำกองและประดับดาวของลูกเสือสำรอง หมายถึง กระบวนการต้อนรับเด็กที่มีอายุในช่วง ๘-๑๑ ปี เข้าเป็นลูกเสือใหม่ และแสดงให้เห็นถึงความเจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ
ความเป็นมา
ลอร์ด เบเดน-โพเอลล์ ได้กำหนดแนวทางดำเนินการเกี่ยวกับกิจการลูกเสือสำหรับเด็กเล็กไว้ โดยเขียนเป็นคู่มือลูกเสือสำรอง (Wolf Cub Handbook) เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๕๙ กำหนดให้เด็กเล็กที่สมัครเข้าเป็นลูกเสือต้องเรียนรู้และได้รับการฝึกอบรมในเรื่อง คำปฏิญาณและกฎ การแสดงความเคารพเป็นหมู่ การแต่งเครื่องแบบลูกเสือสำรอง ความสนใจในธรรมชาติ สัตว์ ป่าดงพงไพร
ได้มีการปรับปรุงพัฒนากิจกรรมของลูกเสือสำรองเหล่านี้จนในปัจจุบันนี้ จัดให้มีหลักสูตรกิจกรรมและรูปแบบการดำเนินกิจการลูกเสือสำรองตามขั้นตอนต่อไปนี้
การเข้าประจำกอง
เด็กที่สมัครเข้าเป็นลูกเสือสำรองก่อนจะเข้าพิธีเข้าประจำกองลูกเสือสำรองต้องเรียนรู้และได้รับการฝึกอบรมในนิยาย เรื่องเมาคลี ประวัติเริ่มกิจการลูกเสือสำรอง การทำความเคารพเป็นหมู่ ระเบียบแถวเบื้องต้น การทำความเคารพรายบุคคล การจับมือซ้าย คติพจน์ของลูกเสือสำรอง รู้จักคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือสำรอง
การกระทำพิธีเข้าประจำกองลูกเสือสำรอง มี ๒ แบบ
แบบที่ ๑ พิธีการของลูกเสือสำรองที่ยังไม่มีกอง
แบบที่ ๒ พิธีการของลูกเสือสำรองที่มีกองอยู่แล้ว
แบบที่ ๑ พิธีการของลูกเสือสำรองที่ยังไม่มีกอง ปฏิบัติดังนี้
๑. ลูกเสือใหม่ทั้งหมดเข้าแถวเป็นแถวตอนหมู่หน้าผู้กำกับลูกเสือ แต่งเครื่องแบบครบ
๒. หมวกที่ติดเครื่องหมายลูกเสือสำรองแล้ว กับเครื่องหมายลูกเสือสำรองที่จะติดกระเป๋าเสื้ออยู่ที่ผู้กำกับลูกเสือ
๓. ธงประจำกอง ให้รองผู้กำกับลูกเสือถือไว้ในท่าตรงนอกวงกลม
๔. ผู้กำกับลูกเสือเรียกลูกเสือใหม่ออกมายืนหน้าผู้กำกับลูกเสือครั้งละหมู่ โดยออกคำสั่งว่า
“หมู่สี...” ให้หมู่สีนั้นออกมายืนเป็นแถวหน้ากระดาน
๕. ผู้กำกับลูกเสือสอบถามลูกเสือใหม่
ผู้กำกับ : “เจ้าต้องการเป็นลูกเสือสำรองใช่ไหม”
ลูกเสือใหม่ : “ใช่ครับ”
ผู้กำกับ : “เจ้าเข้าใจกฎ คำปฏิญาณ การทำความเคารพและการทำแกรนด์ฮาวล์ หรือไม่”
ลูกเสือใหม่ : “ข้าเข้าใจและปฏิบัติได้”
ผู้กำกับ : “กฎมีว่าอย่างไร”
ลูกเสือใหม่ : “ข้อ ๑ ลูกเสือสำรองทำตามลูกเสือรุ่นพี่”
“ข้อ ๒ ลูกเสือสำรองไม่ทำตามใจตนเอง”
ผู้กำกับ : “ถ้าเช่นนั้นจะให้เชื่อได้หรือไม่ว่า”
“ข้อ ๑ เจ้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”
“ข้อ ๒ เจ้าจะยึดมั่นในกฎของลูกเสือสำรองและบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นทุกวัน”
ลูกเสือใหม่ : ทำวันทยหัตถ์ “ข้าสัญญาว่า
ข้อ ๑ ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ข้อ ๒ ข้าจะยึดมั่นในกฎของลูกเสือสำรองและบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นทุกวัน” (ผู้กำกับลูกเสือทำวันทยหัตถ์ ๒ นิ้ว ส่วนรองผู้กำกับลูกเสือหรือผู้บังคับบัญชาลูกเสืออื่นทำรหัสลูกเสือ ๓ นิ้ว)
ผู้กำกับ : “เจ้าจงรักษาคำมั่นสัญญาของเจ้าไว้ให้มั่นต่อไป บัดนี้เจ้าได้เข้าเป็นลูกเสือสำรอง และเป็นสมาชิกผู้หนึ่งของคณะพี่น้องลูกเสือแห่งโลกอันยิ่งใหญ่แล้ว” ลูกเสือลดมือลง
๖. เมื่อผู้กำกับลูกเสือหรือประธานมอบเครื่องหมาย หมวกและสัมผัสมือกับลูกเสือใหม่แล้วให้ลูกเสือใหม่ไปเข้าแถวเตรียมเป็นรูปวงกลม (หมายความว่า เมื่อทุกหมู่เข้าแถวเรียบร้อยแล้ว จะเป็นรูปวงกลมล้อมรอบผู้กำกับลูกเสือ) โดยออกคำสั่งว่า “ลูกเสือใหม่เข้าประจำที่-วิ่ง” ลูกเสือใหม่วิ่งไปเข้าที่ของตน (ซึ่งผู้กำกับลูกเสือนัดหมายไว้ก่อนแล้ว)
๗. เสร็จสิ้นด้วยการทำแกรนด์ฮาวล์
แบบที่ ๒ พิธีการของลูกเสือสำรองที่มีกองอยู่แล้ว
๑. กองลูกเสือสำรองทำรูปวงกลมใหญ่
๒. หมวกที่ติดเครื่องหมายลูกเสือสำรองแล้ว กับเครื่องหมายลูกเสือสำรองที่จะติดกระเป๋าเสื้ออยู่ที่ผู้กำกับลูกเสือ
๓. ธงประจำกอง ให้รองผู้กำกับลูกเสือถือไว้ในท่าตรงนอกวงกลม
๔. ลูกเสือใหม่อยู่นอกวงกลม (แต่งเครื่องแบบครบเว้นแต่เครื่องหมายลูกเสือสำรองที่จะติดกระเป๋าเสื้อกับหมวกอยู่ที่ผู้กำกับลูกเสือ) ด้านหลังของหมู่ที่ตนจะเข้าอยู่
๕. ผู้กำกับลูกเสือเรียกลูกเสือใหม่เข้ามาในวงกลมหน้าผู้กำกับลูกเสือ (หากหลายคนให้เข้าแถวหน้ากระดาน)
๖. ผู้กำกับลูกเสือสอบถามลูกเสือใหม่ เช่นเดียวกับการเข้าประจำกองแบบพิธีการของลูกเสือสำรอง ที่ยังไม่มีกอง
๗. ผู้กำกับลูกเสือมอบเครื่องหมายลูกเสือสำรองสำหรับติดกระเป๋า และมอบหมวกให้ลูกเสือรับมาสวมเอง ลูกเสือทำวันทยหัตถ์และลดมือลง แล้วสัมผัสมือกับผู้กำกับลูกเสือ ในกรณีที่ผู้กำกับกลุ่มลูกเสือเป็นประธาน หรือเชิญผู้อื่นเป็นประธาน ก็ควรให้ทำหน้าที่แทนผู้กำกับลูกเสือตามข้อ ๗ นี้
๘. เสร็จแล้วลูกเสือใหม่ทำกลับหลังหัน ทำความเคารพลูกเสือเก่าด้วยท่าวันทยหัตถ์ ลูกเสือเก่ารับการเคารพด้วยท่าวันทยหัตถ์เช่นกัน แล้วลดมือลงพร้อมกัน (โดยไม่ต้องสั่ง)
๙. ผู้กำกับลูกเสือสั่งลูกเสือใหม่เข้าประจำหมู่ โดยสั่งว่า “ลูกเสือใหม่เข้าประจำหมู่-วิ่ง” ลูกเสือใหม่วิ่งเข้าประจำหมู่ของตน (ซึ่งจัดแบ่งไว้เรียบร้อยแล้ว)
คุณประโยชน์ของพิธีเข้าประจำกองลูกเสือสำรอง
๑. เพื่อน้อมนำให้ลูกเสือระลึกถึงความสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และผู้มีพระคุณ
๒. เพื่อเสริมสร้างระเบียบวินัย ความสง่างาม และความเป็นผู้นำ ผู้ตามที่ดี ตามวิถีทางของลูกเสือ
๓. เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้กำกับลูกเสือกับลูกเสือในกอง
Link เพื่อแชร์ : https://bit.ly/3sHP4LM
แผนกกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน-ลูกเสือ
ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ