หนูน้อยประหยัดน้ำ
น้ำที่มาจากแหล่งน้ำจืดปัจจุบันมีอยู่เพียงร้อยละ2.5 บนโลกเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ น้ำของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ อันนำมาซึ่งผลกระทบต่อคุณภาพ
ชีวิตของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมโดยรวม
ประเทศไทยเองปัญหาภัยแล้งกลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่ผู้คนเริ่มวิตกกันว่ามันไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว หลายพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ ไม่สามารถทำการเกษตร และหลายพื้นที่เริ่มขาดแคลนน้ำอุปโภค
บริโภคบ้างแล้ว ปัญหาเรื่องภัยแล้งเป็นเรื่องที่มีการคาดการณ์ว่าเราจะเดินมาถึงจุดนี้แน่นอนอยู่ที่ช้าหรือเร็ว และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของภัยธรรมชาติ หรือน้ำมือของมนุษย์ประเด็นที่สำคัญก็คือ เราไม่ได้สร้างการตระหนักให้ผู้คนได้เห็น ความ
สำคัญของการใช้น้ำอย่างรู้จักคุณค่า ในอดีตเรายังมีการพูดกันถึงเรื่องการประหยัดอดออม การประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ ประหยัดเงิน ประหยัดน้ำมัน ฯลฯ แต่ดูเหมือนสภาพสังคมในยุคปัจจุบัน ไม่ค่อยได้สนใจในเรื่องนี้เท่าที่ควร เราปล่อยให้
เรื่องของความสะดวกสบายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตกันอย่างมากมายจนขาดความความตระหนักในเรื่องนี้กัน อย่างจริงจัง ยังมีผู้คนอีกมากที่คิดว่าใช้น้ำใช้ไฟมาก แค่ไหนก็ได้ เพราะมีเงินจ่าย บางคนเปิดน้ำทิ้งขณะแปรงฟันโดยไม่สนใจ
บางคนอาบน้ำด้วยฝักบัวเกือบชั่วโมงทุกครั้ง ฯลฯ เราใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค โดยไม่ได้คิดถึงวันหน้ากันมาโดยตลอด แต่พอเกิดปัญหาเรื่องภัยแล้งขึ้นมา ทำให้ผู้คนเริ่มตระหนก และเริ่มมีการรณรงค์ให้ประหยัดน้ำกินน้ำใช้กันแล้วเรื่องภัย
แล้งสอนเราได้มากมาย และน่าจะนำมาเป็นบทเรียนในครอบครัว เพื่อพูดคุยถึงเรื่องคุณค่าของน้ำกันอย่างจริงจังได้แล้วจริงๆ ค่ะ เพราะที่ผ่านมา เรามักลืม ประเด็นเรื่องการประหยัด จนกว่าภัยนั้นมักมาถึงตัวเสมอ ทั้งที่จริงแล้วการสร้างนิสัย
ประหยัดให้กับลูกควรทำโดยตลอด และต้องทำตั้งแต่เล็ก อ้อต้องเริ่มจากพ่อแม่ก่อนด้วยนะคะ ว่าแล้วก็ถือโอกาสชวนลูกพูดคุยเรื่องคุณค่าของน้ำผ่านสถานการณ์ภัยแล้งกันเลยค่ะ
1. เห็นคุณค่าของน้ำ
เริ่มจากสอนลูกให้เห็นคุณค่าของน้ำ อาจจะลองสมมติให้เขาลองคิดถึงน้ำในแง่มุมต่าง ๆ ที่ใกล้ตัวมากที่สุด เช่น เราต้องดื่มน้ำวันละกี่แก้ว ถ้าไม่ดื่มน้ำจะเป็นอย่างไร ลองตั้งโจทย์ให้ลูกเห็นว่าถ้าไม่มีน้ำ ชีวิตจะเป็นอย่างไร เพื่อให้เขามองเห็น
ว่า “น้ำมีความสำคัญอย่างไร” อาจหาหนังสือที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับ “มหัศจรรย์น้ำในร่างกาย” ให้ลูกได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของน้ำ ซึ่งร่างกายมนุษย์มีน้ำเป็นส่วนประกอบประมาณร้อยละ70 ในเลือดมีน้ำเป็นองค์ ประกอบร้อยละ 83 ใน
สมอง มีน้ำเป็นองค์ประกอบร้อยละ 75 ถ้าพิจารณาในแต่ละเซลล์จะมีน้ำเป็นองค์ประกอบร้อยละ 60 หากขาดน้ำติดต่อกันถึง 3 วัน อาจทำให้เราถึงกับเสียชีวิตได้เด็ก ๆ ก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า น้ำมีความสำคัญกับการดำรงชีพของเขาเป็นอย่าง
มาก นอกจากนี้จริง ๆ แล้วน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญ และจำเป็นของเซลล์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเซลล์พืช เซลล์สัตว์ และเซลล์มนุษย์ ทุกเซลล์ล้วนประกอบด้วยน้ำทั้งนั้น
2. ใช้น้ำให้พอดี
ในชีวิตประจำวัน ลูกต้องใช้น้ำทำอะไรบ้าง ต้องดื่มต้องใช้ เวลาใช้ควรใช้แค่ไหนให้ลูกได้รู้ว่ามีมิเตอร์น้ำ ทุกครั้งที่เราใช้น้ำ เราต้องเสียเงินจ่ายค่าน้ำ ยิ่งใช้มากก็ต้องจ่ายเงินมาก เพราะมีเด็กจำนวนไม่น้อย ไม่เคยรู้เลยว่าการใช้น้ำนั้นต้องเสีย
เงินด้วยเพื่อให้เขาได้เห็นภาพว่าน้ำเป็นค่าใช้จ่ายของครอบครัว เพราะฉะนั้นจะใช้ก็ต้องให้พอเหมาะไม่ใช้ทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ หรือถ้าใช้ก๊อกน้ำก็ต้องปิดให้สนิท ขณะที่แปรงฟันก็รองน้ำเอาไว้ ไม่ควรเปิดน้ำทิ้ง
3. ใส่ใจเพิ่มขึ้น
เรื่องเล็ก ๆ ที่มักถูกมองข้ามเสมอ ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่มหรือน้ำใช้ เช่น เวลาจะดื่มน้ำ เราควรรินใส่แก้ว เท่าที่เราจะดื่มแล้วควรดื่มให้หมด หรือแม้แต่ซื้อน้ำขวด เราก็มักดื่มไม่หมดแล้วก็ทิ้งไป ถ้าเราใส่ใจสักนิด และคิดสักหน่อยว่าเราจะดื่มน้ำแค่
ไหน เรามากันกี่คนแล้วควรจะซื้อน้ำกี่ขวด แต่ทุกวันนี้เรามองว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญ ไม่ค่อยได้ใส่ใจรายละเอียดเท่าไร แม้แต่เรื่องน้ำแข็ง เวลาเราเข้าร้านอาหาร บรรดาพนักงาน มักมีถังน้ำแข็งมาให้ลูกค้าเสมอ ทั้งที่จริงแล้วบางทีน้ำก็เย็น อยู่แล้ว
หรือไม่เราก็ใช้น้ำแข็งไม่หมดถังก็เท่ากับเรามีส่วนต่อการใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองมาก เพราะกว่าที่น้ำจะเป็น น้ำแข็งก็ต้องใช้ไฟฟ้า จากนั้นเมื่อน้ำแข็งละลายก็กลายเป็นน้ำ เราสูญเสียพลังงานกับเรื่องน้ำแข็งเป็นถังไปเปล่า ๆ มากมาย
4. เรียนรู้เรื่องแหล่งน้ำ
การสอนให้ลูกได้เรียนรู้ถึงแหล่งน้ำ หรือต้นน้ำลำธาร หรือเรื่องป่าไม้ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ให้ลูกได้เรียนรู้ว่า ที่เกิดปัญหาเรื่องภัยแล้งส่วนหนึ่งเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ ตั้งแต่เรื่องการตัดไม้ทำลายป่า การบริหารจัดการน้ำที่ไร้ประสิทธิภาพ
และเมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้นมา ผลกระทบมันเป็นอย่างไร ก็ถือโอกาสให้ลูกได้เห็นสภาพจริงจากข้อมูลข่าวสารด้วยก็ได้
5. พูดคุยตรง ๆ
ถ้าลูกโตพอพ่อแม่ควรจะพูดคุยเรื่องการใช้จ่ายเงินภายในครัวเรือนให้ลูกได้รับรู้ด้วย อย่างเช่น ในภาวะเศรษฐกิจยุคที่ข้าวของแพง ก็ควรพูดคุยกับลูกตรงไปตรงมาว่า ต้องช่วยกันสร้างนิสัยที่ประหยัดอดออมในทุกเรื่อง ไม่ใช่เพียงเรื่องน้ำ แต่
เป็นเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตด้วย เป็นการปลูกฝังให้ลูกมีนิสัยในการเห็นคุณค่าของทุกสิ่งอย่างรอบตัวด้วย
ที่มา : จุลสารเพื่อนอนุบาล ฉบับที่ 1 ปี 2563 (หน้า 26-28)
แผนกปฐมวัย
ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ