งานจิตตาภิบาลในโรงเรียน
วิสัยทัศน์ (VISION)
โรงเรียนเป็นสนามแห่งการประกาศข่าวดีอย่างแท้จริง โดยตระหนักและลงมือปฏิบัติจริงด้วยจิตวิญญาณของความรักและการรับใช้ ภายใต้โครงสร้างและกรอบงานจิตตาภิบาล ที่สามารถกระจายลงสู่ทุกคนในโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน
พันธกิจ (MISSION)
- กระตุ้นเตือนให้ผู้บริหารตระหนักเห็นความสำคัญ และลงมือเร่งรัด และพัฒนางานจิตตาภิบาลในโรงเรียนอย่างจริงจังและเป็นระบบต่อเนื่อง
- จัดทำกรอบงานและแผนพัฒนางาน จิตตาภิบาลอย่างเป็นระบบชัดเจนและสามารถนำลงสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
- พัฒนาจิตวิญญาณครูคาทอลิกให้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของการดำเนินชีวิตและเป็นแบบอย่างคริสตชนที่ดี
- จัดให้มีการเตรียมและพัฒนาครูสอนคริสตศาสนธรรม และครูผู้นำกิจกรรมคาทอลิกอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง
- สนับสนุนให้มีการสอนคริสตศาสนธรรม และ กิจกรรมคาทอลิกที่หลากหลาย โดยเปิดโอกาสให้ ครูและนักเรียนทุกคน ผู้ปกครอง และชุมชนโดยไม่จำกัดศาสนาได้เข้ามามีส่วนร่วม
- จัดให้มีสวัสดิการทั้งฝ่ายกายและจิตใจ ให้แก่ครูนักเรียนและบุคลากรทุกคนในโรงเรียน ภายใต้บรรยากาศของคุณค่าพระวรสารในเรื่องความรัก ความเอื้ออาทรต่อกันและการแบ่งปันกัน
ความสำคัญของงานจิตตาภิบาล
จิตตาภิบาล มาจากคำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “Chaplain” หรือ “Chaplaincy” ซึ่งพัฒนามาจากคำศัพท์ “Chapel” หมายถึง “วัดน้อย” หรือ “วัดประจำสำนักพระราชวัง หรืออารามนักบวช” พระสงฆ์ที่ทำหน้าที่จิตตาภิบาล จะทำหน้าที่ดูแลเอาใจใส่ต่อการปฏิบัติศาสนจักร หรือชีวิตในฐานะ ศาสนิกชนโดยเน้นการร่วมพิธีกรรมและรับศีลศักดิ์สิทธิ์ เพื่อการฟื้นฟูและรักษาความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า เช่นเดียวกับการสอนพระธรรมคำสอนแก่เยาวชนและผู้ใหญ่ของกลุ่มคนหรือชุมชนนั้นๆ ดังนั้น พระสงฆ์ที่ทำหน้าที่จิตตาภิบาลในโรงเรียนคาทอลิก จะทำหน้าที่ดูแลเอาใจใส่ต่อการปฏิบัติศาสนกิจ พิธีกรรมและรับศีลศักดิ์สิทธิ์ของคริสตชน สอนพระธรรมคำสอนแก่นักเรียน ครูและบุคลากรทำหน้าที่อบรมปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมแก่นักเรียน ทำหน้าที่ประกาศข่าวดีแก่นักเรียนและบุคลากรที่มิใช่คาทอลิกในโรงเรียนให้รู้จักพระคริสตเจ้าและคุณค่าแห่งพระวรสาร งานจิตตาภิบาล มีความสำคัญในกระบวนการจัดการศึกษาเพราะเป็นกระบวนการเน้นคุณค่าของ “ชีวิตจิต” ให้เป็นหลักสำคัญของการพัฒนามนุษย์ในด้านอื่นๆ
กรอบงานหลักของงานจิตตาภิบาลในโรงเรียน
เพื่อให้การจัดการศึกษาของโรงเรียนในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ตอบสนองต่อแผนงานอภิบาลอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ค.ศ. 2011-2015 ข้อ 57 ต้องทำให้สถานศึกษาคาทอลิกทุกระดับแสดงอัตลักษณ์ของตนให้เด่นชัดโดยมีพระคริสตเจ้าเป็นรากฐาน มุ่งให้เป็นสนามและฐานแห่งการประกาศข่าวดีแก่ทุกคน สร้างบรรยากาศคาทอลิก สอนคำสอน ปลูกฝังความเชื่อ ผสมผสานวัฒนธรรมกับความเชื่อ และความเชื่อกับชีวิต และเน้นการบริหารจัดการหลักสูตรทั้งในและนอกระบบที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมจริยธรรมตามคุณค่าพระวรสาร และข้อ 59 ให้สถานศึกษาในอัครสังฆมณฑลฯ ทุกระดับ เป็นสนามแห่งการอบรมและเป็นฐานเพื่อการประกาศข่าวดี อาศัยการศึกษาอบรมความเชื่อ การพัฒนาเด็กเยาวชนในเรื่องการศึกษา จริยธรรมและศีลธรรม และการเสวนาฯ
ดังนั้น ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จึงได้กำหนดกรอบงานหลักเพื่อพัฒนางานจิตตาภิบาลซึ่งถือเป็นจิตวิญญาณแห่งการจัดการศึกษาของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ออกเป็น 5 กรอบงานหลักดังนี้ คือ
- กรอบงานด้านการอภิบาล
- กรอบงานด้านการประกาศข่าวดี
- กรอบงานด้านคุณธรรมจริยธรรม
- กรอบงานด้านสังคมสงเคราะห์
- กรอบงานด้านศาสนสัมพันธ์
1. กรอบงานด้านการอภิบาล
เป็นงานที่สร้างความศักดิ์สิทธิ์ การอบรม สั่งสอนและการปกครองดูแลเด็กและเยาวชน รวมทั้งบุคลากรทุกคนในโรงเรียน และผู้ปกครอง กรอบงานด้านการอภิบาลประกอบด้วย 2 งานหลักที่สำคัญคือ 1.1) งานด้านพระวาจา หรือ การสอนคริสตศาสนธรรม 1.2) งานด้านศีลศักดิ์สิทธิ์
1.1) งานด้านพระวาจา หรือ การสอนคริสตศาสนธรรม
เป็นงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งระบบตั้งแต่ผู้บริหาร เด็ก และเยาวชน บุคลากร และผู้ปกครอง เพื่อให้พระวาจาของพระเจ้าได้เจริญและงอกในชีวิตของทุกคนที่อยู่ในสถานศึกษา ซึ่งสามารถปรากฏให้เห็นได้ด้วยการเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่ดี รวมทั้งงานปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการสอนคริสตศาสนธรรมด้วย งานด้านพระวาจาหรือการสอนคริสตศาสนธรรม ประกอบด้วย 3 งานหลัก คือ
(1) งานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมุ่งเน้นที่
- พระสงฆ์-นักบวช ผู้บริหาร ต้องเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่เต็มเปี่ยมด้วยจิตตารมณ์ของความรักและการรับใช้ ให้ความสำคัญในงานจิตตาภิบาลเป็นอันดับต้น และควรมีชั่วโมงสอนคริสตศาสนธรรมอย่างชัดเจนเป็นประจำ
- ครูทุกคนทั้งที่เป็นคริสตชนและไม่ใช่คริสตชน ต้องได้รับการสอนคริสตศาสนธรรม หรือจริยธรรมตามความเชื่อของแต่ละศาสนามีการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันในกลุ่มด้วยการอบรมหรือมีกิจกรรมทำร่วมกัน รวมทั้งได้รับการอบรมฟื้นฟูจิตใจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และที่สำคัญคือต้องเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่ดี
- ครูคาทอลิกทุกคน ต้องเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อ ความหวัง และความรัก และครูคาทอลิกทุกคนควรมีโอกาสได้สอนคริสตศาสนธรรมในรูปแบบและความพร้อมตามบริบทของแต่ละโรงเรียน จัดการสอนสอนคริสตศาสนธรรมให้กับครูคาทอลิกอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งโดยพระสงฆ์หรือนักบวชเป็นผู้สอนคำสอน สำหรับครูคาทอลิกที่เป็นครูคริสตศาสนธรรม เฉพาะ (ครูคำสอน) จะต้องได้รับการเลือกสรร ส่งเสริมและพัฒนาด้วยการส่งเสริมให้เรียนที่ศูนย์คริสตศาสนธรรม (ศูนย์ ซี ซี) หรือที่วิทยาลัยแสงธรรม หรือที่กรุงโรม หรือที่ต่างๆ ที่เหมาะสม รวมทั้งได้รับการฝึกอบรม หรือเข้าร่วมประชุมสัมมนาอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาความรู้ ประสบการณ์กับ พระเจ้า รวมทั้งเทคนิควิธีการในการถ่ายทอดและการสอนคริสตศาสนธรรมด้วยชีวิต ในขณะเดียวกันก็ควรจะได้รับสวัสดิการค่าตอบแทน (ทางกาย) บ้างตามสมควรแก่โอกาสที่เหมาะสม
- นักการ-ภารโรง ทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดต้องได้รับความยุติธรรมในด้านค่าแรงและสวัสดิการตามกฎเกณฑ์ของอัครสังฆมณฑล และได้รับการฟื้นฟูจิตใจด้วยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และสำหรับผู้ที่เป็นคริสตชน ควรจะได้รับการดูแลในเรื่องของการเรียนคำสอน และศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ อย่างจริงจัง
- นักเรียนทุกคน ต้องได้รับการอบรม ส่งเสริม และพัฒนาความเชื่อตามศาสนาที่ตนนับถือ เพื่อนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ดี และมีความสุขในการดำเนินชีวิต
- สำหรับเด็กและเยาวชนที่เป็นคริสตชน จะต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นผู้ช่วยอบรม และเป็นแบบอย่างที่ดี (ANIMATOR และ FACILITATOR) รวมทั้งเป็นผู้ที่สามารถให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำแก่ผู้อื่นได้ และที่สำคัญคือต้องได้รับการสอนคริสตศาสนธรรมเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง และนักเรียนที่อยู่ในชั้นสูงสุดของโรงเรียนต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเกี่ยวกับเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่พึงจะได้รับ และจัดเข้าเงียบฟื้นฟูจิตใจสำหรับนักเรียน
(2) งานสร้างสัมพันธ์ชุมชน ผู้ปกครอง วัด และโรงเรียน เป็นการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีต่อกันระหว่างผู้ปกครอง ชุมชน วัด และโรงเรียน ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ต่อไปในขณะเดียวกันก็เน้นการพัฒนาผู้ปกครองคาทอลิกให้ตระหนักถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านความเชื่อ ความศรัทธา ต่อบุตร-หลาน
(3) งานปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรคริสตศาสนธรรม (คำสอน) เป็นการพัฒนาหลักสูตร การสอนคริสตศาสนธรรมที่เน้นพระคัมภีร์และคุณค่าของพระวรสารมากกว่าการท่องจำ มีการกำหนดชั่วโมงการสอนคริสตศาสนธรรมที่ชัดเจนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง (และมีชั่วโมงกิจกรรมคาทอลิกอีก 1 ชั่วโมง) ในโครงสร้างหลักสูตรของโรงเรียนมีการพัฒนาแนวการจัดกิจกรรมที่หลากหลายที่เน้นคุณค่าพระวรสารการพัฒนาสื่อ อุปกรณ์การสอนคำสอน พร้อมทั้งมีการวัดผลและประเมินผลในรูปแบบที่หลากหลายไม่ใช่เพียงแต่การสอบอย่างเดียว
1.2) งานด้านศีลศักดิ์สิทธิ์
เน้นงานด้านการให้ความรู้ การเตรียมและให้บริการศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ รวมไปถึงการให้คำแนะนำและดูแลชีวิตฝ่ายจิตให้กับนักเรียน ครู บุคลากรทุกคน และผู้ปกครองที่เป็นคาทอลิก นอกจากนี้ยังรวมถึงงานด้านพิธีกรรมต่างๆ และกิจกรรมทางศาสนาด้วย งานด้านศีลศักดิ์สิทธิ์ประกอบด้วย 5 งานหลัก คือ
(1) งานการให้ความรู้ : เป็นงานที่มุ่งเน้นในการให้ความรู้พื้นฐานที่สำคัญในการเข้าใจความหมาย ความสำคัญ ของศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทั้งในมิติของเทววิทยาและการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับ “พระศาสนจักร” ความเป็นมา ความสัมพันธ์ความเป็นหนึ่งเดียวกันในพระศาสนจักร บทบาทหน้าที่ที่มีต่อพระศาสนจักรในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักร งานการให้ความรู้นี้ไม่จำกัดอยู่ที่การสอนในห้องเรียนเท่านั้น แต่มุ่งเน้นการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันด้วย
(2) งานการเตรียมและให้บริการด้านศีลศักดิ์สิทธิ์ : ถือเป็นหน้าที่หลักอีกประการหนึ่งของโรงเรียนที่จะต้องเตรียมและให้บริการเด็กและเยาวชนรวมทั้งบุคลากรทุกคนในโรงเรียนในการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งศีลล้างบาปแก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับศีลล้างบาป, ศีลมหาสนิท, ศีลอภัยบาป, ศีลกำลัง และพิธีรื้อฟื้นการรับศีลล้างบาปและศีลมหาสนิทอย่างสง่า รวมไปถึงการให้ความรู้ เพื่อความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องของศีลสมรส ศีลบวช และศีลเจิมคนไข้ แก่นักเรียนรวมถึงการให้ความรู้ การเตรียม และการโปรดศีลสมรส หรือศีลเจิมคนไข้ให้แก่บุคลากรทุกคนในโรงเรียนตามความเหมาะสมด้วย
(3) งานการให้คำแนะนำดูแลเอาใจใส่ฝ่ายจิต : งานนี้มุ่งเน้นที่การให้ความดูแลเอาใจใส่ฝ่าย จิตวิญญาณ แก่นักเรียน และบุคลากรทุกคนในโรงเรียนเป็นรายกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องกระแสเรียกในการเป็นสงฆ์และนักบวช รวมทั้งกระแสเรียกในการเป็นฆราวาสด้วย นอกจากนั้นยังมุ่งเน้นในการให้คำปรึกษาและแนะนำแก่บุคลากรและผู้ปกครอง ในการดำเนินชีวิตที่ดีในการเป็นคริสตชนในฐานะที่เป็นลูกของพระบิดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านความเชื่อความศรัทธาและการประกอบศาสนกิจของผู้ปกครองที่ต้องเป็นแบบอย่างแก่บุตรหลาน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการพัฒนาชีวิตจิตของเด็ก และเยาวชนซึ่งต้องเริ่มต้นตั้งแต่ในครอบครัว
(4) งานด้านพิธีกรรม : มุ่งเน้นให้นักเรียน บุคลากรทุกคนในโรงเรียนได้เข้าใจและเห็นความสำคัญ และได้มีโอกาสเข้าร่วมในพิธีบูชาขอบพระคุณในวันอาทิตย์ และในโอกาสที่เหมาะสม รวมไปถึงการฝึกฝนนักเรียนให้มีประสบการณ์ในการเป็นผู้ช่วยมิสซา การฝึกการ ขับร้องเพลงศักดิ์สิทธิ์ การฝึกฝนให้เป็นผู้อ่านพระคัมภีร์ และการเป็นผู้ก่อสวดก่อนและหลังมิสซา และเป็นพิเศษสำหรับบุคลากรทุกคนในโรงเรียนที่เป็นคาทอลิกต้องเน้นให้เห็นถึงคุณค่าและหน้าที่ของคริสตชนในการเข้าร่วมในศาสนกิจต่างๆ เช่น การมาวัดในวันอาทิตย์ หรือการเข้าร่วมในพิธีกรรมในโอกาสสำคัญๆ ของโรงเรียนเป็นต้น
(5) งานด้านกิจกรรม : เน้นกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม คือ
- กิจกรรมตามเทศกาล เป็นกิจกรรมตามปีพิธีกรรม รวมไปถึงกิจกรรมเสริมที่เกี่ยวข้องกับศีลศักดิ์สิทธิ์ และพิธีกรรม เช่น พิธีกรรมฉลองนักบุญองค์อุปถัมภ์ของโรงเรียนและกิจกรรมการส่งเสริมกระแสเรียกต่างๆ เป็นต้น
- กิจกรรมคาทอลิก เน้นกิจกรรมที่ให้นักเรียนทั้งที่เป็นคาทอลิก และไม่เป็นคาทอลิกเข้าร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมกองหน้าร่าเริง, พลศีล, Y.C.S. , พลมารี, ยุวธรรมฑูต, เยาวชนเซอร่า SYM (สำหรับโรงเรียนในเครือซาเลเซียน) ,วิถีชุมชนวัด(BEC) , กลุ่มภาวนา , กลุ่มพระวาจา และดนตรีศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ
- กิจกรรมลูกเสือ เน้นที่จะให้ผู้ให้การอบรมได้เป็นแบบอย่างที่ดีไม่ว่าจะด้วยคำพูด หรือ เพลงที่นำมาเสนอเพื่อความสนุกสนานต้องไม่มีแง่มุมที่จะนำไปในทางที่ไม่ดี การเสริมคุณค่าพระวรสารลงไปในกิจกรรมต่างๆ และมีวจนพิธีกรรมเสริมในพิธีเปิด-ปิดด้วย หรือมีการนำสวดก่อนเริ่มกิจกรรม หรือมีพิธีบูชาขอบพระคุณในกรณีที่เข้าค่ายพักแรมตรงกับวันอาทิตย์ รวมทั้งการสร้างความตระหนักในคุณค่าของพระวรสาร สู่ความหมายของกฎและคำปฏิญาณของลูกเสือ
2. กรอบงานด้านการประกาศข่าวดี
เป็นงานการประกาศข่าวดีที่เน้นการเป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้าและข่าวดีแห่งความรอดของพระองค์อย่างเป็นรูปธรรม ที่จะสามารถทำให้แผ่ขยายและซึมซับเข้าไปสู่วิถีการดำเนินชีวิตของผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ
2.1) สอนวิชาคริสต์ศาสนา
- จัดทำและพัฒนาหลักสูตร หน่วยการเรียนวิชาคริสต์ศาสนา
- กำหนดชั่วโมงสอนคริสต์ศาสนาสำหรับนักเรียนที่นับถือศาสนาอื่นอย่างชัดเจน
- ส่งเสริมพัฒนาและอบรมครูผู้สอนคริสต์ศาสนาในการจัดทำแผนการสอน กิจกรรมการเรียนรู้ และพัฒนาสื่อการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2.2) จัดบรรยากาศคาทอลิก
มุ่งเน้นการสร้างบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม ระบบการทำงาน การบริหารงาน การบริหารอาคารสถานที่ในโรงเรียนให้สามารถสัมผัสได้ถึง
- ความรัก การรับใช้ และการแบ่งปันตามพระวรสาร
- บรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย ด้วยการปลูกจิตสำนึกให้รู้ถึงคุณค่าการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
- การเสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันแทนการแข่งขันโดยไม่มีการแบ่งแยกชนชาติ ศาสนา ฐานะทางสังคม และเศรษฐกิจ
- บรรยากาศของการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว
- การสร้างความสัมพันธ์และบรรยากาศของความร่วมมือต่อกันระหว่างโรงเรียนและชุมชนในการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมไทย
- จัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการส่งเสริมให้ผู้เรียนรักและแสวงหาความรู้ตลอดชีวิต
- จัดบรรยากาศและระบบการบริหารที่ส่งเสริมความเอื้ออาทรและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ระหว่างผู้บริหาร ครู บุคลากรทุกคน นักเรียน และผู้ปกครอง
- ปลูกฝังและส่งเสริมในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนเป็นและมีอยู่ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
- สร้างบรรยากาศที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของการเป็นโรงเรียนคาทอลิกที่สามารถสัมผัสได้ เช่น มีรูปปั้นขององค์อุปถัมภ์ของโรงเรียน, การจัดมุมสงบ มุมธรรมชาติต่างๆ ที่นักเรียนจะสามารถใช้เป็นสถานที่พักจิตใจ, การใช้วัดให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาจิตใจ และเป็นศูนย์รวมของการมีชีวิตอยู่ร่วมกันในด้านจิตใจ การติดรูปกางเขนในห้องเรียนการติดหลักธรรมหรือพระวาจาของพระตามอาคารสถานที่ที่เหมาะสม รวมไปถึงการจัดมุมต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดบรรยากาศแห่งความสงบ ความอบอุ่น และบรรยากาศของความเป็นครอบครัว
2.3) งานการจัดทรัพยากร
มุ่งเน้นที่ห้องปฏิบัติการที่จะเอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ พร้อมทั้งมีสื่อวัสดุอุปกรณ์ที่เพียงพอและอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ เช่น การจัดห้องคริสตศาสนธรรม ห้องจริยศึกษา ห้องปฏิบัติการ ในการสอนในวิชาต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้ทรัพยากรที่มีอยู่ส่งผลและเอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนในทุกด้าน
2.4) งานด้านกิจกรรมและโครงการ
เน้นให้ผู้เรียนได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อความดีของตนเอง เพื่อผู้อื่น สังคม และประเทศชาติ รวมไปถึงนำไปสู่การหยั่งรากลึกลงไปในการเสริมสร้าง และพัฒนา ความศรัทธา ความเชื่อของแต่ละศาสนา งานด้านกิจกรรม และโครงการ
- งานกิจกรรมส่งเสริมอัตลักษณ์โรงเรียน
- งานกิจกรรมเสริมความรู้ด้านคริสตศาสนา เน้นการนำพระคริสต์สู่ปวงชน เช่น วันพระคัมภีร์ หรือการจัดค่ายสอนคำสอนภาคฤดูร้อน เป็นต้น
3. กรอบงานด้านคุณธรรม จริยธรรม
เป็นงานปลูกฝังส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมแก่ผู้เรียนทุกคนให้เข้าถึงคุณค่าความดี มุ่งเน้นเป็นพิเศษในเรื่องของคุณธรรม มีความรักรับใช้และแบ่งปัน มีจริยธรรม คุณธรรมและศีลธรรม เคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีของตนเองและผู้อื่น มีวินัย รักประชาธิปไตย ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม รักสถาบันโรงเรียน รักชาติ ศาสนา กษัตริย์ มีความรับผิดชอบในการทำงาน รู้หน้าที่ รักวัฒนธรรมและประเพณีที่ ดีงาม มีความรู้ สามารถแยกแยะความดีความชั่ว มีความเป็นผู้นำ คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อตนเองและผู้อื่น มีความสุข มีสุขภาพแข็งแรง มีความภาคภูมิใจ พึ่งตนเองได้ สามารถดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างมีสันติสุข รวมไปถึงการสร้างความอบอุ่นในบรรยากาศของครอบครัว เพื่อต่อต้านปัญหายาเสพติดและอบายมุขต่างๆ ด้วยการ
3.1) การบูรณาการจริยธรรมในทุกกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้
โดยการบูรณาการ คุณธรรมจริยธรรมเข้าไปในเนื้อหาสาระการเรียนรู้เลยโดยบูรณาการตั้งแต่จุดประสงค์การเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
3.2) งานปลูกฝังส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมแก่นักเรียน
จัดให้มีการสอนจริยธรรมในคาบจริยธรรมให้ชัดเจน ส่งเสริมพัฒนาและจัดการอบรมฝึกฝนครูผู้สอนจริยธรรมหรือครูประจำชั้นให้สามารถเป็นผู้อบรม(Formator) หรือผู้สอนจริยธรรมในกับนักเรียนในคาบ การสอนจริยธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในเรื่องการสอน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และพัฒนาสื่อการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จัดให้มีการอบรมและส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ทั้งครูผู้สอนและนักเรียน ส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ โครงการส่งเสริมพัฒนาคุณธรรม ระเบียบวินัยและมารยาทดีงามให้แก่ครูและนักเรียน
- การนำคุณค่าพระวรสารลงสู่กิจกรรมการเรียนรู้ โดยการบูรณาการคุณค่าของพระวรสารลงในเนื้อหาวิชาในทุกโอกาสตามความเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณค่าของพระวรสารในเรื่องของความรัก การแบ่งปัน และการรับใช้
- งานกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม-จริยธรรม เช่น กิจกรรม โครงการคนดีศรีโรงเรียน, การเชิดชูเกียรติคนดี, ธนาคารความดี และกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมตามบริบทของสังคมและท้องถิ่นนั้นๆ เช่น โครงการถือศีลกินผักสำหรับโรงเรียนทางภาคใต้ เป็นต้น
- งานกิจกรรมเพื่อสังคมและชุมชน มุ่งเน้นการได้เข้าไปสัมผัสชีวิตจริงที่เกิดขึ้นในมิติต่างๆ เพื่อเสริมคุณค่าชีวิตให้กับตนเอง และสังคม เช่น กิจกรรมสัมผัสผู้ยากไร้, ค่ายอาสาพัฒนาชนบท, กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ และกิจกรรมจิตตารมณ์มหาพรต ที่เน้นถึงคุณค่าของความรัก และ การแบ่งปันแก่ผู้ที่ด้อยโอกาส และผู้อื่นในสังคม
- งานกิจกรรมตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดี ของชาติ สังคม และชุมชน เช่น กิจกรรมวันแม่,วันพ่อแห่งชาติ, กิจกรรมวันลอยกระทง, กิจกรรมวันต่อต้านยาเสพติด หรือกิจกรรมที่เน้นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของชุมชนนั้นๆ
4. กรอบงานด้านสังคมสงเคราะห์
เป็นงานที่เป็นพยานถึงความรักและจิตตารมณ์แห่งการรับใช้ ที่แสดงให้เห็นว่าพระศาสนจักรจะต้องอยู่เคียงข้างคนยากจนเช่นเดียวกับพระคริสตเจ้า ด้วยเหตุนี้ เด็ก เยาวชนทุกคน จึงมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็ก-เยาวชนคาทอลิกทุกคนควรจะต้องได้มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนคาทอลิกเพื่อเขาจะได้รับการปลูกฝัง ส่งเสริม และพัฒนา ความเชื่อ ความศรัทธา ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาชีวิตฝ่ายจิต และการนำไปสู่การเป็นคริสตชนที่ดีต่อไปในอนาคต งานด้านนี้ยังเป็นการตอบสนองต่อนโนบายในการจัดการศึกษาของโรงเรียนใน อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ที่ต้องเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาโดยปราศจากเงินกินเปล่า งานด้านสังคมสงเคราะห์ ประกอบด้วย
4.1) การให้โอกาสในการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก
เพราะเด็กทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก โดยเฉพาะโรงเรียนของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ โดยไม่จำกัดชาติพันธุ์, ศาสนา สถานภาพทางสังคม และเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กคาทอลิกทุกคน ควรจะต้องได้มีโอกาสเข้าศึกษาในโรงเรียนของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
4.2) งานการให้ทุนการศึกษา
เน้นการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทั้งในรูปของการให้เปล่า หรือในรูปของการลดอัตราค่าธรรมเนียม หรือ ในรูปของการให้โอกาสชำระเป็นระยะๆ ตามความจำเป็น และความเหมาะสม เป็นรายกรณี เพื่อแสดงให้เห็นว่าการขาดแคลน ด้านทุนทรัพย์ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กและเยาวชนไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนของ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯได้
4.3) งานดูแลเอาใจใส่ให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณี
เด็กและเยาวชนที่เข้ามาศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่และได้รับความช่วยเหลือเป็นรายกรณีที่แต่ละคนควรจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเอาใจใส่ด้านความเป็นอยู่, ด้านจิตวิญญาณ, ด้านเศรษฐกิจ, ด้านการศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น
4.4) งานจัดเตรียมบุคลากรด้านสังคมสงเคราะห์
เป็นการจัดเตรียมบุคลากรเพื่อให้โรงเรียนของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เป็นแหล่งที่จะสามารถช่วยพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การให้การศึกษา, การให้ความรู้และฝึกอาชีพต่างๆ ในระยะสั้นๆ รวมไปถึงงานสังคมสงเคราะห์ต่างๆ เพื่อให้โรงเรียนได้มีส่วนในการพัฒนาสังคมด้วย
4.5) การจัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสและจัดการศึกษาพิเศษสำหรับผู้บกพร่องทางร่างกาย
เป็นงานที่ตอบสนองและให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน ที่มีความบกพร่องทาง การเรียนรู้ (Learning Disabilities) รวมไปถึงเด็ก-เยาวชนมีความบกพร่องทางร่างกายแต่มีความสามารถที่จะเรียนรู้ร่วมกับเด็กปกติได้
4.6) การใช้ทรัพยากรและแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียน
เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา เป็นงานที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามาใช้สถานที่และทรัพยากรในโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตนเอง สังคม และชุมชน
4.7) งานดูแลเอาใจใส่และให้การสนับสนุน
นักเรียนที่จบชั้นสูงสุดของโรงเรียน นักเรียนที่จบชั้นสูงสุดของโรงเรียนควรจะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ให้ได้รับความก้าวหน้าต่อไปไม่ว่าจะเป็นการศึกษาต่อ การประกอบอาชีพ เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับตนเอง การดูแลเอาใจใส่ในลักษณะนี้ อาจจะอยู่ในรูปของการให้ทุนการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือการติดต่อให้ความช่วยเหลือในการฝึกฝนอาชีพ และการให้คำปรึกษาติดต่อเยี่ยมเยียนโดยผ่านทางสมาคมศิษย์เก่าของโรงเรียนเพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านความเป็นอยู่ และการดูแลฝ่ายจิตวิญญาณด้วย
4.8) จิตอาสา
ส่งเสริมให้นักเรียนมีการทำจิตอาสาเป็นรายชั่วโมงที่โรงเรียนกำหนด เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเหล่านี้สำนึกถึงการแบ่งปัน รับใช้และช่วยเหลือผู้อื่น เช่น ในโรงเรียน วัด โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ บ้านคนพิการ บ้านคนชรา ฯลฯ
5. กรอบงานด้านศาสนสัมพันธ์
เป็นการเสวนาระหว่างศาสนา เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจที่ดีต่อกันและเพื่อ ความดีร่วมกัน เน้นการเสวนา และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน และองค์กรต่างๆ รวมไปถึงการรักษาไว้ซึ่งคุณค่าของขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของท้องถิ่นด้วย ด้วยการส่งเสริมกิจกรรมศาสนสัมพันธ์ ให้ความรู้กับคณะครูและนักเรียนในเรื่องศาสนสัมพันธ์ การอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพกันและมีการใช้หลักธรรมในแต่ละศาสนามาใช้ในการดำเนินชีวิต และมีความร่วมมือกันในความเข้าใจอันดี
<ดาวน์โหลดไฟล์ งานจิตตาภิบาลในโรงเรียน.docx>
- - -
แผนกจิตตาภิบาล
ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
ข้อมูลปี 2013/2556 และ 2015/2558
เนื้อหาในเว็บไซต์ฝ่ายการศึกษาฯ: https://bit.ly/3jw03SS
อัพเดท: 06/08/2564