(ภาพ : https://baby.kapook.com/view167589.html)
เมื่อรู้หรือสงสัยว่าลูกหลานของเราจะเป็นเพศหลากหลายหรือไม่ ปัญหาและคำถามเหล่านี้เหมือนจะลอยวนอยู่เต็มบ้าน พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ต่างก็เฝ้าแต่หาสาเหตุ ค้นหาต้นตอ บางครอบครัวถึงขั้นขัดแย้งกัน เพราะโทษกรรมพันธุ์หรือ DNA ว่าเป็นเพราะฝ่ายฉันหรือฝ่ายเธอ
ปัจจุบัน ในทางการแพทย์นั้นก็ถือว่าความแตกต่างหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้เป็นโรค "องค์การอนามัยโลก (WHO : World Health Organization) ได้มีการปรับแก้บัญชีจำแนกโรคสากล ICD-11 ฉบับใหม่โดยถอดถอนภาวะการข้ามเพศออกจากหมวดความบกพร่องทางจิตและพฤติกรรมและได้บรรจุภาวะการข้ามเพศในหมวดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางเพศ (Sexual health) ซึ่งบรรจุอยู่ในบทที่ 17ของบัญชีจำแนกโรคสากล ICD-11 ฉบับใหม่
มีการใช้คำใหม่ในการจำแนกภาวะการข้ามเพศกับกลุ่มประชากรสองกลุ่ม ดังนี้
1. เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ (Gender Incongruence of Adolescence and Adulthood)
2. เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดในวัยเด็ก (Gender Incongruence of Childhood)
อย่างไรก็ตาม บัญชีจำแนกโรคสากลนี้ ยังคงต้องผ่านการพิจารณาจากสภาสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly) ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 และหากผ่านการพิจารณา คาดว่าจะเริ่มใช้ทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565"
ความหลากหลายทางเพศจึงเป็นความงดงามในโลกใบนี้ เหมือนดอกไม้หลากหลายพันธุ์ หลากเฉดสี เป็นความหลากหลายในการดำรงอยู่ของมนุษย์ การที่มีลูกหลานหรือบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ในบ้านไม่ใช่ปัญหาแต่ปัญหาคือการที่เราถูกกล่อมเกลาให้เชื่อว่าโลกนี้มีเพียงสองเพศ นี้ต่างหากคือวิกฤตและต้นตอนานัปการ และจนบัดนี้ยังไม่มีงานวิจัยหรือข้อสรุปที่ชัดเจนใด ๆ ในทางวิทยาศาสตร์ว่าการเป็นเพศหลากหลายนั้นเกิดมาจากอะไร ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ สิ่งแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรม ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ มารองรับว่าเป็นสาเหตุของการมีความหลากหลายทางเพศ
“ความหลากหลายทางเพศ เป็นส่วนสำคัญยิ่งยวดในการดำรงอยู่ของมนุษย์เช่นเดียวกับชีวิตอื่น ๆ บนโลกใบนี้มันเป็นเช่นนั้นเสมอมาและจะเป็นอยู่อย่างนั้นเสมอไป…”
จากหนังสือ Beyond Gender Binary : แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลิ้นไหลที่ผลิบาน
เขียนโดย อลก เวด-เมนอน (Alok Vaid-Menon) นักเขียนสัญชาติ อินเดียน-อเมริกัน หนึ่งในคนที่ผลักดันเรื่องความลื่นไหลทางเพศ
และพยายามทลายกรอบแนวคิดเรื่องเพศทวิลักษณ์
นอกจากความกังวลที่ลูกหลานไม่ตกอยู่ในการจำแนกว่าเป็นหญิงหรือชายแล้ว สิ่งที่ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง วิตกกังวล มักมาจากความห่วงใยเพราะรู้สึกว่าลูกเป็นคนกลุ่มน้อยของสังคมที่ยังไม่ได้รับการยอมรับ ทั้งในเรื่องของการดำรงชีวิตประจำวัน กลัวถูกล้อเลียน กลัวถูกกีดกันการบังคับให้แต่งกายตามเพศกำเนิดในสถานศึกษา หรือในเรื่องใหญ่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อพวกเขาเติบโต เช่น สิทธิ นโยบายในทางกฎหมาย เช่น การประกอบอาชีพการแต่งงาน หรือการจดทะเบียนคู่ชีวิตฯ
ยิ่งไปกว่านั้น ในมิติทางความเชื่อดั้งเดิมและความเชื่อทางศาสนาพบว่ายังมีการกีดกัน ปิดกั้น แยก เหยียดบุคลคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่นในศาสนาพุทธมีการห้ามผู้ชายที่แสดงออกว่าเป็นผู้หญิงอย่างชัดเจน หรือคนที่มีเครื่องเพศสองเพศในตัว บวชเป็นพระภิกษุ ในศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามคำสอนจะถูกตีความผ่านผู้รู้ว่า พระเจ้าสร้างแค่ผู้ชายและผู้หญิงขึ้นมาเป็นคู่กันเท่านั้น ถ้านอกเหนือจากนี้จะถือว่าเป็นความผิดผู้ชายที่เลียนแบบเป็นผู้หญิง หรือผู้หญิงที่เลียนแบบเป็นผู้ชาย จึงถูกถือว่าทำผิดไปจากข้อกำหนดที่พระเจ้ากำหนดไว้ บางส่วนในบริบทของคำสอนทางศาสนาจึงมีส่วนทำให้การดำรงอยู่ของคนหลากหลายทางเพศจึงถูกกดทับ และเหมือนมีความผิดบาปติดตัวที่ต้องรอรับการตัดสินหรือลงโทษ
อย่างไรก็ตาม โลกปัจจุบันได้มีการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ รับรอง ยอมรับ เปิดกว้าง ต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วได้มีการยกเลิกการเรียนการสอนที่แบ่งแยกเพศว่าเป็นหญิงชาย และสร้างหลักสูตรให้เรียนรู้ความหลากหลายทางเพศตั้งแต่วัยอนุบาล
บ้างก็ยกเลิกการระบุ จำแนกความเป็นเพศในรายละเอียดเอกสารต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นต่อการแสดงตน อีกทั้งสังคมโลกก็ได้มีการนำคำสอนทางศาสนาและความเชื่อ มาตีความใหม่ ๆ และสร้างคำอธิบายใหม่ ๆ มาสนับสนุนการดำงอยู่ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ความหลากหลายทางเพศ จึงไม่ได้เป็นเรื่องผิดแปลกพิสดาร หรือเกิดจากการเลี้ยงดูที่บกพร่องแต่นี่คือความสามัญและเป็นความปกติของชีวิตและแทนที่จะให้ความสำคัญว่าลูกเป็นหญิงหรือชายหรือไม่ แต่จงภาคภูมิใจที่ลูกได้เป็นตัวของตัวเอง มีอิสระ เติบโต และงดงามตามศักยภาพในความเป็นมนุษย์
จำได้ไหมว่าเรารักลูกตั้งแต่เมื่อไหร่
เรารักลูกตั้งแต่วินาทีที่รู้ว่ามีเขา
ตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าเขามีเพศอะไรไม่ใช่หรอกหรือ
ความรักมันอยู่ตรงนั้นแล้ว แล้วทำไมต้องมาทุกข์
เมื่อรู้ว่าเขามีความหลากหลายทางเพศ
ที่ทุกข์เพราะความคาดหวัง
แล้วคนที่เป็นพ่อแม่ส่วนใหญ่คาดหวังจะให้ลูกมีความสุข
แล้วทำไมเราต้องผิดหวังที่ลูกเป็นตัวเอง
เพราะมนุษย์จะมีความสุขแน่ ๆ
เมื่อเขาได้เป็นตัวของตัวเอง
และได้รับการยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น...
หมอโอ๋ - จิราภรณ์ อรุณากูร
กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น เพจเลี้ยงลูกนอกบ้านคุยกับชินดี้ สิรินยา วินศิริ ใน "Balanced Mama"
The Standard Podcast "พ่อแม่ควรทำความเข้าใจอย่างไรในวันที่ลูกมาบอกว่าเป็น LGBTQ" 23 มิ.ย. 2561
ที่มาของข้อมูล : บ้านนี้มีความหลากหลาย คู่มือผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานหลากหลายเพศ (หน้า 18-29)
Link เพื่อแชร์ >> https://bit.ly/3pVpVM0
แผนกปฐมวัย
ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
adminmam