สถานที่ติดต่อ

122/9 อาคารแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์

ยานนาวา กรุงเทพฯ 10120

เวลาทำการ

เปิดบริการ จันทร์ - ศุกร์

หยุด เสาร์ - อาทิตย์

ติดต่อเพิ่มเติม

โทร : 02-681-3840-4

อีเมล์ : edba.thai@gmail.com

พิธีการลูกเสือสำรอง - พิธีการเปิด-ปิดประชุมกองลูกเสือสำรอง
 --------------------------------------------
  
          ความหมาย
          -  พิธีการเปิดประชุมกองของลูกเสือสำรอง หมายถึง รูปแบบกิจกรรมที่สำคัญ ที่เน้นและบ่งชี้ให้ทราบว่าการเรียนการสอนกิจกรรมลูกเสือสำรองนั้น จะต้องมีการเปิดและปิดประชุมกองทุกครั้ง จึงจะดำเนินการเรียนการสอนตามขั้นตอนที่ได้จัดเตรียมมา หลักสำคัญอยู่ที่ความพร้อมของผู้เรียน และความตั้งใจจริงของผู้สอน ดังนั้น การเปิดประชุมกองทุกครั้งจึงมีความสำคัญและสอดคล้อง เพื่อเป็นการสร้างสมาธิ และปรับพฤติกรรมของลูกเสือให้พร้อมต่อการรับถ่ายทอดจากผู้กำกับลูกเสือ รองผู้กำกับลูกเสือ เช่น การมีวินัย การเชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาลูกเสือด้วยความเคารพ เริ่มต้นด้วยการทำแกรนด์ฮาวล์ พิธีเคารพธงชาติ สวดมนต์ สงบนิ่ง ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความพร้อมของลูกเสือ ทั้งนี้ กระทำที่หน้าเสาธงโดยผู้กำกับกองลูกเสือและรองผู้กำกับกองลูกเสือเป็นผู้ดำเนินการ เมื่อทำพิธีเปิดประชุมกองแล้ว ก็เริ่มต้นกิจกรรมต่อไป คือ เล่นเกม ร้องเพลง เข้าสู่บทเรียน เล่านิทาน หรือเรื่องสั้นที่เป็นคติ แล้วทำพิธีปิด 
          -  พิธีการปิดประชุมกอง หมายถึง กระบวนการเมื่อเสร็จสิ้นการเรียนกิจกรรมลูกเสือตามหลักสูตรการจัดการเรียนกิจกรรมลูกเสือสำรอง ปิดท้ายด้วยพิธีการปิดประชุมกอง เพื่อให้ลูกเสือ ผู้กำกับกองลูกเสือและรองผู้กำกับกองลูกเสือ ทำการนัดหมาย ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อย ชักธงลง เสร็จสิ้นการเรียนบทเรียนนั้น แยกย้ายกันไป ทั้งนี้กระทำที่หน้าเสาธง โดยผู้กำกับกองลูกเสือและรองผู้กำกับกองลูกเสือเป็นผู้ดำเนินการ 
          ความเป็นมา 
          กิจกรรมของลูกเสือสำรองเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นสำหรับเด็กอายุ ๘-๑๑ ปี ซึ่งเด็กในวัยนี้ถือเป็นยังเป็นเด็กเล็กอยู่ พฤติกรรมต่าง ๆ ของเด็กจะสามารถรับการถ่ายทอดและการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จำเป็นต้องอาศัยการสร้างรูปแบบ จินตนาการ การถ่ายทอด การมีอารมณ์ร่วมการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่าง ๆ การร้อง การเต้น การเลียนแบบสัตว์ ซึ่งแนวคิดลักษณะนี้ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อมาเป็นเวลายาวนานจากต้นแบบของลูกเสือสำรอง คือ ประเทศอังกฤษ โดยผู้เป็นต้นแบบได้นำเอา “นิทานเมาคลีลูกหมาป่า” มาประยุกต์ใช้ กลายเป็นนวัตกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการให้กับเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี จนถึงปัจจุบัน โดยมีขั้นตอนของการเปิดประชุมกองดังนี้ คือ แกรนด์ฮาวล์ เชิญธงขึ้น สวดมนต์ สงบนิ่ง ตรวจ แยก 
          ขั้นตอนและวิธีการเปิดประชุมกอง
          ๑. แกรนด์ฮาวล์ (Grand Howl)  
          ผู้กำกับลูกเสือยืนอยู่ตรงหน้าเสาธง ห่างจากเสาธงพอประมาณ (๒-๓ ก้าว) เรียกลูกเสือ ทำแกรนด์ฮาวล์ โดยมีรองผู้กำกับลูกเสือยืนอยู่ด้านหลังผู้กำกับลูกเสือ และนอกวงกลม 
 
image001 12 7 65 resize
          ๒. เชิญธงขึ้น     
          - จัดลูกเสือที่เป็นหมู่บริการ ๒ คน เป็นผู้เชิญธง ให้วิ่งเหยาะ ๆ ไปที่เสาธงห่างจากเสาธงประมาณ ๓ ก้าว หมู่บริการทั้งสองคนแสดงความเคารพด้วยท่าวันทยหัตถ์พร้อมกัน คนทางขวามือก้าวไปข้างหน้า ๒ ก้าว ยืนเท้าชิด โน้มตัวเพื่อแก้เชือกธงที่ผูกอยู่กับเสาออกมาถือไว้ แล้วถอยหลังกลับมายืนคู่กับคนทางด้านซ้ายมือ ส่งเชือกให้คนด้านซ้ายมือเป็นผู้ชักธง โดยให้ผืนธงอยู่ด้านขวา (เวลาชักธงขึ้น เชือกธงทั้งสองเส้นต้องไม่ให้หย่อน) ผู้กำกับลูกเสือเป็นผู้สั่งทำความเคารพ โดยออกคำสั่งว่า “แพ๊ก-เคารพธงชาติ-วันทยหัตถ์” (คำสั่งวันทยหัตถ์นี้ไม่ใช่คำบอกแบ่งว่า “วันทย-หัตถ์” แต่เป็นคำบอกติดกันว่า “วันทยหัตถ์”) ลูกเสือในวงกลมทั้งหมดรวมทั้งผู้กำกับลูกเสือและรองผู้กำกับลูกเสืออื่น ๆ ทำวันทยหัตถ์พร้อมกัน ผู้บังคับบัญชาลูกเสือทำวันทยหัตถ์ ๓ นิ้ว หมู่บริการนำร้องเพลงชาติ เมื่อธงชาติขึ้นถึงยอดเสาแล้ว ลูกเสือคนด้านขวามือเดินเข้าไปผูกเชือกธง คนด้านซ้ายมือยืนอยู่ในท่าตรง (ไม่ต้องทำวันทยหัตถ์) เมื่อผูกเชือกธงเรียบร้อยแล้วให้ถอยหลังกลับมายืนที่เดิมทั้งสองคน ทำวันทยหัตถ์พร้อมกันแล้วลดมือลง
 
image003 12 7 65 resize
 
image005 12 7 65 resize
 
          - ลูกเสือในแถววงกลมทุกคนยังอยู่ในท่าวันทยหัตถ์ ลูกเสือผู้เชิญธงชาติวิ่งกลับไปเข้าที่ของตนในแถววงกลม และทำวันทยหัตถ์เช่นเดียวกับลูกเสือในแถววงกลม
          - ผู้กำกับลูกเสือสั่งว่า “มือลง” ลูกเสือทุกคนจึงลดมือลงพร้อมกัน (กระฉับกระเฉง-ว่องไว-พร้อมเพรียง) ส่วนผู้กำกับลูกเสือและผู้บังคับบัญชาลูกเสืออื่น ๆ ให้ลดมือลงพร้อมกับลูกเสือสองคนที่เชิญธง
          ๓. สวดมนต์
          - พอลดมือลงแล้ว ทุกคนอยู่ในท่าตรง แล้วถอดหมวกเตรียมตัวสวดมนต์ ผู้แทนหมู่บริการนำสวดมนต์ (ควรบอกวิธีถอดหมวก ถือหมวกขณะสวดมนต์)
 image007 12 7 65 resize
          ๔. สงบนิ่ง
          - เมื่อสวดมนต์จบแล้ว ทุกคนสงบนิ่งโดยปล่อยมือขวาที่ถือหมวกลงมาตรง ๆ มือซ้ายทับหลังมือขวา ก้มศีรษะลงมาข้างหน้า มองพื้น ใช้เวลาสงบนิ่งประมาณ ๑ นาที (รำลึกถึงผู้มีพระคุณ)
          ๕. ตรวจ
          การตรวจ
          - พิธีเปิดประชุมกอง จะตรวจอะไรก็ได้ เช่น ตรวจความสะอาดของร่างกาย ผม เล็บ ฟันความสะอาดอื่น ๆ สุขภาพ ความพร้อมในการเรียน ตรวจเครื่องแบบ (ผู้กำกับลูกเสือเป็นผู้สั่งก่อนจะให้ตรวจอะไร) แต่การตรวจในตอนปิดประชุมกองนั้น ให้ตรวจเครื่องแบบเป็นสำคัญ ด้วยเหตุที่ลูกเสือทุกคนเรียนและทำกิจกรรม จึงต้องตรวจทุกอย่างให้อยู่ในความเรียบร้อย และจะต้องแต่งเครื่องแบบกลับบ้าน (ในกรณีที่ชั่วโมงการเรียนการสอนเป็นชั่วโมงสุดท้ายของวัน) 
          วิธีตรวจ
          - ตามปรกติผู้กำกับลูกเสือเป็นผู้ตรวจ แต่ในบางโอกาสผู้กำกับลูกเสืออาจมอบหมายให้รองผู้กำกับลูกเสือหรือนายหมู่ลูกเสือเป็นผู้ตรวจก็ได้ แล้วแต่กรณี (กิจกรรมลูกเสือการมอบหมายให้บุคคลอื่นมีบทบาทร่วมด้วยถือเป็นสิ่งสำคัญ เป็นการเน้นให้รู้ถึงหน้าที่และบทบาท) 
 
image009 12 7 65 resize
 
          - ในกรณีที่รองผู้กำกับลูกเสือเป็นผู้ตรวจ รองผู้กำกับลูกเสือจะต้องทำความเคารพผู้กำกับลูกเสือเสียก่อนแล้วจึงไปตรวจหมู่ลูกเสือ พอไปถึงหน้าหมู่ลูกเสือที่จะรับการตรวจ นายหมู่ลูกเสือสั่งลูกเสือในหมู่ของตนว่า “หมู่สี......(ระบุหมู่สีที่จะรับการตรวจว่าสีอะไร) ยืนตรง” ลูกเสือทุกคน ตรงนายหมู่ลูกเสือคนเดียวทำวันทยหัตถ์ แล้วลดมือลงก้าวไปข้างหน้า ๑ ก้าว ทำวันทยหัตถ์แล้วรายงานว่า“หมู่สี.......(ระบุสี) พร้อมที่จะรับการตรวจแล้วครับ”
 
image011 12 7 65
 
 
          - เมื่อรายงานจบ ลดมือลงถอยหลังเข้าที่เดิมอยู่ในท่าตรง ในช่วงนี้ ผู้ตรวจจะตรวจขณะที่อยู่ในท่าตรงก็ได้ หรือจะสั่งให้อยู่ในท่าตามระเบียบพักก็ได้ แล้วผู้ตรวจจึงทำการตรวจนายหมู่ลูกเสือก่อนแล้วจึงตรวจลูกหมู่ต่อไปทีละคน โดยการก้าวขาไปข้างขวาทีละก้าว (ก้าวละ ๑ คน โดยนายหมู่ลูกเสือต้องก้าวตามไปด้วย ในจังหวะการก้าวที่เหมือนกัน ผู้ตรวจจะได้แนะนำให้นายหมู่ลูกเสือทราบถึงข้อบกพร่องของลูกหมู่ที่ได้รับการตรวจ เพื่อแก้ไขต่อไป)
          - ในการตรวจถ้าเป็นการตรวจเครื่องแบบ เมื่อผู้ตรวจได้ตรวจถึงคนสุดท้ายแล้ว ต้องเดิน ตรวจด้านหลัง จนกลับมาที่ตำแหน่งนายหมู่ลูกเสือยืน (ถ้าตรวจเครื่องแบบผู้ตรวจต้องสั่ง นายหมู่ลูกเสือหันหลังกลับเพื่อรับการตรวจด้านหลังด้วย) ถ้าเป็นการตรวจอื่น ๆ เพียงแต่เดินตรวจด้านหน้าจนถึงคนสุดท้าย และเดินมาส่งนายหมู่ลูกเสือที่เดิม เมื่อตรวจทุกคนแล้วนายหมู่ลูกเสือกลับเข้าที่ ทำวันทยหัตถ์ ผู้ตรวจอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นนายหมู่ลูกเสือจึงสั่งลูกหมู่พัก รองผู้กำกับลูกเสือที่ไปตรวจ จะกลับหลังหันรายงานสรุปให้ผู้กำกับลูกเสือทราบถึงผลการตรวจ และข้อเสนอแนะให้กับผู้กำกับลูกเสือทราบด้วย โดยการรายงานให้รายงานได้ทันทีเมื่อตรวจเสร็จ (ใครตรวจเสร็จก่อนรายงานก่อน)
 
image013 12 7 65
 
          - ในกรณีที่นายหมู่ลูกเสือเป็นผู้ตรวจ เมื่อนายหมู่ลูกเสือได้ยินคำสั่งของผู้กำกับลูกเสือสั่งว่า “นายหมู่ลูกเสือตรวจ” ให้ตัวนายหมู่ลูกเสือก้าวออกมาข้างหน้าแถว ๑ ก้าว แล้วกลับหลังหันเข้าหาหมู่ของตนเองที่จะทำการตรวจ ในขณะเดียวกันรองนายหมู่ลูกเสือต้องวิ่งอ้อมด้านหลังหมู่ของตน แล้วเข้ายืนแทนที่ในแถวที่นายหมู่ลูกเสือยืน (เป็นการยืนแทนในตำแหน่งนายหมู่ลูกเสือ) นายหมู่ลูกเสือทำการตรวจ (วิธีตรวจก็เช่นเดียวกับรองผู้กำกับลูกเสือตรวจ) เมื่อนายหมู่ลูกเสือตรวจเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ยืนรอจนเห็นว่าทุกหมู่ตรวจเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงวิ่งไปตั้งแถวหน้ากระดานเรียงเดี่ยวหน้าผู้กำกับลูกเสือให้ผู้กำกับลูกเสืออยู่ตรงกลางของแถวลูกเสือ (ฝั่งตรงข้าม) โดยนายหมู่ลูกเสือบริการยืนหัวแถว สีอื่นเข้าแถวต่อออกไปตามสีที่จัดเรียงไว้ 
          - การรายงานให้นายหมู่ลูกเสือรายงานทีละคนโดยเรียงจากหมู่บริการก่อน คนที่รายงานจะต้องก้าวออกไปข้างหน้า ๑ ก้าว ยืนตรง ทำวันทยหัตถ์แล้วรายงานผลการตรวจ ลดมือลงถอยกลับเข้ายืนที่เดิมจนครบทุกคน ผู้กำกับลูกเสือกล่าวขอบคุณนายหมู่ลูกเสือทุกคน ในขณะเดียวกันก็สำรวจตัวนายหมู่ลูกเสือด้วย และติชมตัวนายหมู่ลูกเสือ เสร็จแล้วผู้กำกับลูกเสือสั่งนายหมู่ลูกเสือกลับเข้าที่เป็นจังหวะเดียวกับที่รองนายหมู่ลูกเสือวิ่งอ้อมด้านหลังกลับเข้าที่ของตนเอง จากนั้นผู้กำกับลูกเสือให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อลูกเสือทุกคน แล้วออกคำสั่งว่า “แพ๊ก-แยก” ให้ลูกเสือทุกคนทำขวาหันแล้วแยกย้ายกันไปปฏิบัติกิจกรรมอื่น ๆ 
          คุณประโยชน์ของพิธีการเปิดประชุมกองลูกเสือสำรอง
          ๑. เพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึกให้แก่ลูกเสือสำรอง ถึงหน้าที่และความรับผิดชอบ 
          ๒. เพื่อน้อมนำให้ลูกเสือระลึกถึงความสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตลอดจนคุณงามความดีของผู้มีพระคุณ 
          ๓. เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเรียน และเสริมสร้างระเบียบวินัย ความสง่างาม ความเป็นผู้นำ ผู้ตามที่ดี โดยอาศัยระบบหมู่ของลูกเสือเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกเสือตามวิถีทางที่ดีและมีคุณค่าของลูกเสือ
          ๔. เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้กำกับลูกเสือกับลูกเสือในหมู่และกองลูกเสือ 
          ๕. เพื่อเป็นการสร้างแนวคิดและเจตคติที่ดีให้กับกิจการลูกเสือและวิชาอื่น ๆ ในระดับชั้นของลูกเสือสำรอง
          ขั้นตอนและวิธีการพิธีการปิดประชุมกอง
          การปิดประชุมกองลูกเสือสำรอง มีลักษณะที่เหมือนกับลูกเสือประเภทอื่น ๆ แต่ด้วยความที่ลูกเสือสำรองเป็นเด็กเล็ก การปิดประชุมกองในแต่ละครั้ง ต้องมีความชัดเจนและแน่นอน เพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาดได้ เช่น บทสรุปของบทเรียน การนัดหมาย ต้องชัดเจนและปฏิบัติได้ การคลายข้อสงสัยของเด็ก การตรวจสอบในเรื่องความพร้อมที่จะเข้าสู่ช่วงเวลาอื่น ๆ เช่น การเรียนวิชาอื่น การเดินทางกลับบ้านการทำกิจกรรมอื่น ๆ ของโรงเรียน การปิดประชุมกองลูกเสือสำรอง มีขั้นตอนดังต่อไปนี้  
          ๑. นัดหมาย
          - ผู้กำกับลูกเสือสำรองยืนหน้าเสาธง ยืนห่างจากเสาธงพอสมควร (๒ ก้าว) เรียกลูกเสือด้วยเสียงอันดัง ๓ ครั้งว่า “แพ๊ก-แพ๊ก-แพ๊ก” (แพ๊กที่สามต้องใช้เสียงเน้นให้ดังและหนักแน่นกว่าสองครั้งแรก) พร้อมทั้งแสดงสัญญาณมือ โดยการแกว่งแขนเป็นวงกลมในระดับเอวไปรอบตัวผู้เรียก ประมาณ ๒-๓ ครั้ง จนแน่ใจว่าลูกเสือสำรองมองเห็นสัญญาณมือ
 
image015 12 7 65 resize
 
          - ลูกเสือสำรองเมื่อได้ยินเสียงเรียก และเห็นสัญญาณมือของผู้กำกับลูกเสือสำรอง “ทุกคนเปล่งเสียงด้วยเสียงอันดังโดยพร้อมเพรียงกันว่า “แพ๊ก” แล้วทุกคนวิ่งมาเข้าแถวเป็นรูปวงกลมเล็ก (ลักษณะหัวไหล่ชิดกัน) ลูกเสือทุกคนจับมือกันแน่น เมื่อเรียบร้อยแล้วปล่อยมือ
          - ผู้กำกับลูกเสือสำรวจความเรียบร้อยของลูกเสือ เหลียวมองไปรอบ ๆ (ลักษณะเหมือนฝูงหมาป่าที่ถูกสำรวจโดยหัวหน้าหมาป่า) เมื่อลูกเสือทุกคนเข้าแถวเป็นวงกลมดีแล้ว ผู้กำกับลูกเสือให้สัญญาณมือ โดยการผายมือทั้งสองข้างออกไปด้านข้างลำตัวระดับเอว ฝ่ามือหงายขึ้น
          - ลูกเสือสำรองทุกคนเมื่อเห็นสัญญาณมือของผู้กำกับลูกเสือ จับมือกันแน่น เดินถอยหลังอย่างพร้อมเพรียงกันด้วยความรวดเร็ว ขยายเป็นวงกลมใหญ่ เมื่อลูกเสือทุกคนถอยหลังจนแขนตึง (จะเป็นวงกลมใหญ่ทันที) ทุกคนปล่อยมือลงอยู่ในท่าตรง 
          - ผู้กำกับลูกเสือสั่ง “ตามระเบียบ-พัก” เสร็จแล้วผู้กำกับลูกเสือนัดหมาย เช่น การนัดหมายกิจกรรมต่อไป 
          - การนัดหมายเรียกการตรวจในพิธีเปิดประชุมกองจะตรวจอะไรก็ได้ เช่น ผม ฟัน เล็บ ความสะอาดของร่างกาย แต่การปิดประชุมกองทุกครั้งจะต้องตรวจในเรื่องของความสะอาดและความเรียบร้อย เช่น การแต่งกายที่เรียบร้อย (เครื่องแบบทั้งหมด) ความสะอาดของร่างกายทั่วไป
          ๒. ตรวจ 
          - ผู้กำกับลูกเสือให้รองผู้กำกับลูกเสือ หรือนายหมู่ลูกเสือ เป็นผู้ตรวจ โดยการแต่งกายที่เรียบร้อย แล้วรายงานผลการตรวจที่หน้าแถวลูกเสือที่ตรวจแล้ว (รองผู้กำกับลูกเสือ ๑ คน ควรตรวจเพียง ๑ หมู่ เท่านั้น
image017 12 7 65
          - เมื่อผู้ตรวจรายงานผลการตรวจทุกหมู่แล้ว ผู้กำกับลูกเสือกล่าวให้คำแนะนำและติชมผลการตรวจ
          ๓. แกรนด์ฮาวล์
          - ผู้กำกับลูกเสือสั่ง “แพ๊ก-ตรง” แล้วแสดงสัญญาณมือโดยกางแขนทั้งสองข้างออกไปเสมอไหล่ ฝ่ามือทั้งสองหงายขึ้น นิ้วทั้งห้าเหยียดตรงเรียงชิดติดกัน (แขนทั้งสองข้างเป็นมุมฉากกับลำตัว) ในขณะเดียวกันผู้กำกับลูกเสือต้องมองสำรวจลูกเสือในวงกลมทุกคน ให้นั่ง-เงียบ และอยู่ในความพร้อม แล้วจึงพลิกฝ่ามือทั้งสองข้างคว่ำลง งองุ้มให้ตั้งฉากกับแขน ปลายมือที่งองุ้มชี้ลงพื้น 
 
image019 12 7 65
          - ลูกเสือทุกคนเมื่อเห็นสัญญาณมือให้รีบนั่งลงทันที โดยนั่งบนส้นเท้า แขนทั้งสองข้างเหยียดตรงเข่าทั้งสองข้างแยกออก (แบะ) และให้แขนทั้งสองข้างอยู่ด้านในระหว่างเข่า นิ้วชี้และนิ้วกลางทั้งสองมือเหยียดชิดกัน แตะลงไปที่พื้นดิน นิ้วนางและนิ้วก้อยงอ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือกดไว้ให้โน้มตัวมาด้านหน้าเล็กน้อย เงยหน้าขึ้น สามารถมองเห็นผู้กำกับลูกเสือได้อย่างชัดเจน
          - ผู้กำกับลูกเสือเมื่อเห็นลูกเสือทุกคนพร้อมแล้ว ให้พลิกฝ่ามือทั้งสองข้างที่งองุ้มอยู่หงายขึ้น แขนเหยียดตรง นิ้วทั้งห้าเรียงชิดติดกัน 
          - ลูกเสือทุกคนเมื่อเห็นสัญญาณมือของผู้กำกับลูกเสือทุกคนเปล่งเสียงอันดังพร้อมกันว่า “อา-เค-ล่า-เรา-จะ-ทำ-ดี-ที่-สุด” พอสิ้นเสียง ให้ลูกเสือทุกคนกระโดดขึ้นยืนในท่าตรง พร้อมกับยกมือทั้งสองข้างขึ้นไปแนบศีรษะ เหนือหู นิ้วชี้และนิ้วกลางเหยียดตรงชิดกัน นิ้วนางและนิ้วก้อยงอ โดยมีนิ้วหัวแม่มือกดไว้ 
          - นายหมู่ลูกเสือที่ทำหน้าที่เป็นหมู่บริการในวันนั้น ซึ่งยืนอยู่ตรงหน้าผู้กำกับลูกเสือเปล่งเสียงอันดังว่า “จงทำดี-จงทำดี-จงทำดี” ขณะที่เปล่งเสียงร้องให้หันหน้าไปทางด้านซ้ายมือ-ตรงกลาง-และขวามือ โดยหันแบบนิ่ง ๆ ไม่ต้องมีการผงกศีรษะ แล้วหันกลับมามองตรงหน้าผู้กำกับลูกเสือตามเดิม 
          - เมื่อสิ้นเสียงของนายหมู่บริการ ลูกเสือทุกคนลดมือกลับมาแนบลำตัวอยู่ในท่าตรงมือขวาลดลงมาทำท่า “วันทยหัตถ์” โดยนิ้วแยกออกเป็นรูปตัววี ปลายนิ้วชี้แตะที่หางคิ้วขวา นิ้วกลางแยกออกเหยียดตรง แล้วเปล่งเสียงดังพร้อมกันว่า “เราจะทำดี-จะทำดี-จะทำดี” ขณะที่ลูกเสือเปล่งเสียงร้องผู้กำกับลูกเสือทำวันทยหัตถ์รับ โดยมีลักษณะเช่นเดียวกับลูกเสือสำรอง (๒ นิ้ว) เมื่อลูกเสือกล่าวจบ ผู้กำกับลูกเสือจะกล่าวคำว่า “ขอบใจแพ๊ก” และสั่งว่า “มือลง”
          ๔. ชักธงลง
          - ผู้แทนหมู่บริการ ๒ คน วิ่งออกมาในลักษณะพร้อมกันอย่างสง่าผ่าเผย เพื่อมาที่เสาธง เมื่อวิ่งมาถึงเสาธงหยุดตรงหน้าเสาธง ยืนห่างจากเสาธงประมาณ ๒ ก้าว อยู่ในท่าตรงทำความเคารพด้วยการวันทยหัตถ์ จากนั้นคนทางขวามือก้าวเข้าไปแก้เชือกที่ผูกเสาธงโดยยืนเท้าชิด เสร็จแล้วถอยกลับมายืนที่เดิมในท่าตรง ส่งเชือกผูกธงให้คนทางด้านซ้ายมือ เพื่อทำหน้าที่เป็นคนผ่อนธงลง ส่วนคนทางด้านขวามือเป็นผู้ถือเชือกที่ผูกติดอยู่กับธง ทำหน้าที่เป็นผู้ดึงเชือกธง (ต้องตึงเสมอเวลาธงขึ้นและธงลง ไม่ให้เชือกธงหย่อน)
          - ผู้กำกับลูกเสือสั่งเสียงดังหนักแน่นว่า “เคารพธงชาติ-วันทยหัตถ์” ลูกเสือทุกคนทำวันทยหัตถ์ ตัวแทนหมู่บริการที่อยู่ด้านขวามือ ชักธงลง เมื่อธงชาติถูกดึงลงถึงมือ คนทางขวามือรวบเชือกเข้าไปผูกที่เสาธงให้แน่น ด้วยความกระฉับกระเฉง แล้วถอยกลับมายืนที่เดิม เสร็จแล้วทั้งสองคนทำวันทยหัตถ์พร้อมกัน (โดยผู้กำกับลูกเสือเอามือลงพร้อมกับลูกเสือที่ชักธง) แล้วลูกเสือทั้งสองคนทำกลับหลังหันวิ่งกลับเข้าไปในแถวของตนเอง แล้วทำวันทยหัตถ์เหมือนกับลูกเสือทุกคน 
          ๕. เลิก
           - ผู้กำกับลูกเสือสั่ง “มือลง” แล้วสั่ง “แพ๊ก-เลิก” เมื่อลูกเสือทุกคนได้ยินคำสั่งของผู้กำกับลูกเสือ ให้ทำวันทยหัตถ์พร้อมกัน และเปล่งเสียงอันดังว่า “ขอบคุณครับ” แล้วทำขวาหันแยกย้ายกันไปเป็นอันเสร็จพิธีปิดการประชุมกองลูกเสือสำรอง 
ข้อสังเกต       คำสั่งเวลาที่จะสิ้นสุดกิจกรรมของลูกเสือสำรอง จะมีคำสั่งอยู่ ๒ ลักษณะ คือ 
          ลักษณะที่ ๑ สั่งว่า “แพ๊ก–แยก” ให้ลูกเสือทุกคนขวาหัน แล้วแยกย้ายกันไป (จะมีการเรียนต่ออีกเพื่อทำกิจกรรม) 
          ลักษณะที่ ๒ สั่งว่า “แพ๊ก–เลิก” ให้ลูกเสือทุกคนทำวันทยหัตถ์ และเปล่งเสียงตะโกนว่า “ขอบคุณครับ” แล้วทำขวาหัน แยกย้ายกันไป 
          คุณประโยชน์ของพิธีการปิดประชุมกองลูกเสือสำรอง
          ๑. เพื่อน้อมนำให้ลูกเสือระลึกถึงความสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และผู้มีพระคุณ
          ๒. เพื่อเสริมสร้างระเบียบวินัย ความสง่างาม ความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ตามวิถีทางของลูกเสือ 
          ๓. เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้กำกับลูกเสือกับลูกเสือในกอง
 
 
ที่มา : สารานุกรมลูกเสือ ๑๐๐ ปี ลูกเสือไทย เล่มที่ ๒
 

-------------------------

แผนกกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน-ลูกเสือ
ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
www.edbathai.com

คัดลอกLinkเพื่อแชร์ : https://bit.ly/3Pj0Rci

 

Fr CECT

RakLook

GespelV

8 Poster edited.pptx

Poster สั่งซื้อคริสต์ 2024

Poster สั่งซื้อจริยะ 2024

Form2556

BG 03

ปก1024

GCE Youtube2

prawaja

EduSetha

find us on youtubeunnamed

liturgical calendar

bible diary 2024 cover

ordomissae